วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คำถาม


1.ระบบสุริยะ หมายถึง อะไร

2.ดาวเคราะห์ดวงใดที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกมากที่สุด

3. ผลกระทบของพายุสุริยะต่อโลกมีอะไรบ้าง

4. ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง เกิดจากอิทธิพลจากสิ่งใด

5. ดาวเทียมดวงใดเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ส่งขึ้นสู่อวกาศ

6. ดาวเทียมข้อใดเป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของประเทศไทย

7. กล้องบนพื้นโลกส่องสังเกตวัตถุท้องฟ้าได้ไกลประมาณเท่าใด

8. ทฤษฎีใดที่ใช้อธิบายการเกิดเอกภพ

9. จุดมุ่งหมายของการส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ คืออะไร

10. เพราะเหตุใดดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ จึงโคจรรอบดวงอาทิตย์

พายุสุริยะ

พายุสุริยะ




พายุสุริยะ (อังกฤษ: Solar storm) เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดจากการที่ผิวดวงอาทิตย์ระเบิดขึ้นมาที่เรียกว่า "การระเบิดลุกจ้า" ซึ่งทำให้อนุภาคประจุไฟฟ้าพุ่งออกมาจำนวนมหาศาล ประจุไฟฟ้าที่พุ่งออกมานี้จะรบกวนระบบการสื่อสารมีผลทำให้การสื่อสารระยะไกลเป็นอัมพาต ทำให้เครื่องบินไม่สามารถติดต่อกับหอบังคับการได้ โทรศัพท์มือถือใช้งานไม่ได้รวมไปถึงดาวเทียมเสียหาย การทำนายความรุนแรงของพายุสุริยะสามารถทำได้โดยตรวจสอบจุดมืดดวงอาทิตย์ เนื่องจากจุดดำเกิดจากความแปรปรวนของสนามแม่เหล็ก เมื่อมีจุดมืดมากขึ้นก็จะส่งผลให้อนุภาคกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

พายุสุริยะจะส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กของโลก ทำให้ส่งผลต่อโทรทัศน์ สัญญาณโทรศัพท์ และระบบนำทางของเครื่องบินหรือเรือเดินสมุทร นอกจากนี้ยังทำให้ท่อส่งน้ำมันผุกร่อนได้เร็วกว่าปกติมาก และขณะที่สนามแม่เหล็กโลกถูกแรงของพลาสมาทั้งดึงและดันอยู่ จะทำให้ประจุไฟฟ้าปริมาณมากเกิดขึ้นในอวกาศ อาจทำให้ดาวเทียมเกิดประจุไฟฟ้าบริเวณรอบนอก กระแสฟ้าที่เกิดขึ้นนี้อาจถูกปล่อยเข้าไปภายในดาวเทียมและอาจทำให้เกิดความผิดปกติหรือเสียหายได้ แต่ถ้าพลาสมาเดินทางมายังโลกเป็นปริมาณเยอะ (การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา) จะทำให้ส่งผลต่อระบบการส่งกระแสไฟฟ้าบนโลก

บิกแบง

Big Bang


       บิกแบง (อังกฤษ: Big Bang, "การระเบิดครั้งใหญ่") เป็นแบบจำลองของการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพในจักรวาลวิทยาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และจากการสังเกตการณ์ที่แตกต่างกันจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปใช้คำนี้กล่าวถึงแนวคิดการขยายตัวของเอกภพหลังจากสภาวะแรกเริ่มที่ทั้งร้อนและหนาแน่นอย่างมากในช่วงเวลาจำกัดระยะหนึ่งในอดีต และยังคงดำเนินการขยายตัวอยู่จนถึงในปัจจุบัน
       ฌอร์ฌ เลอแม็ทร์ นักวิทยาศาสตร์และพระโรมันคาทอลิก เป็นผู้เสนอแนวคิดการกำเนิดของเอกภพ ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ ทฤษฎีบิกแบง ในเบื้องแรกเขาเรียกทฤษฎีนี้ว่า สมมติฐานเกี่ยวกับอะตอมแรกเริ่ม (hypothesis of the primeval atom) อเล็กซานเดอร์ ฟรีดแมน ทำการคำนวณแบบจำลองโดยมีกรอบการพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1929 เอ็ดวิน ฮับเบิลค้นพบว่า ระยะห่างของดาราจักรมีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับการเคลื่อนไปทางแดง การสังเกตการณ์นี้บ่งชี้ว่า ดาราจักรและกระจุกดาวอันห่างไกลกำลังเคลื่อนที่ออกจากจุดสังเกต ซึ่งหมายความว่าเอกภพกำลังขยายตัว ยิ่งตำแหน่งดาราจักรไกลยิ่งขึ้น ความเร็วปรากฏก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นหากเอกภพในปัจจุบันกำลังขยายตัว แสดงว่าก่อนหน้านี้ เอกภพย่อมมีขนาดเล็กกว่า หนาแน่นกว่า และร้อนกว่าที่เป็นอยู่ แนวคิดนี้มีการพิจารณาอย่างละเอียดย้อนไปจนถึงระดับความหนาแน่นและอุณหภูมิที่จุดสูงสุด และผลสรุปที่ได้ก็สอดคล้องอย่างยิ่งกับผลจากการสังเกตการณ์ ทว่าการเพิ่มของอัตราเร่งมีข้อจำกัดในการตรวจสอบสภาวะพลังงานที่สูงขนาดนั้น หากไม่มีข้อมูลอื่นที่ช่วยยืนยันสภาวะเริ่มต้นชั่วขณะก่อนการระเบิด ลำพังทฤษฎีบิกแบงก็ยังไม่สามารถใช้อธิบายสภาวะเริ่มต้นได้ มันเพียงอธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงของเอกภพที่เกิดขึ้นหลังจากสภาวะเริ่มต้นเท่านั้น
       คำว่า "บิกแบง" ที่จริงเป็นคำล้อเลียนซึ่งเกิดขึ้นเมื่อนักดาราศาสตร์ชื่อ เฟรด ฮอยล์ ตั้งใจดูหมิ่นและทำลายความน่าเชื่อถือของทฤษฎีที่เขาเห็นว่าไม่มีทางเป็นจริง ในการออกอากาศทางวิทยุครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1949 ในเวลาต่อมา ฮอยล์ได้ช่วยศึกษาผลกระทบของนิวเคลียร์ในการก่อเกิดธาตุมวลหนักที่ได้จากธาตุซึ่งมีมวลน้อยกว่า อย่างไรก็ดี การค้นพบรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของจักรวาลในปี ค.ศ. 1964 ยิ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิเสธทฤษฎีบิกแบงได้

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ระบบสุริยะ

ระบบสุริยะ


ระบบสุริยะ (อังกฤษSolar System) ประกอบด้วยดวงอาทิตย์และวัตถุอื่น ๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เนื่องจากแรงโน้มถ่วง ได้แก่ ดาวเคราะห์ 8 ดวงกับดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 166 ดวง ดาวเคราะห์แคระ 5 ดวงกับดวงจันทร์บริวารที่ค้นพบแล้ว 4 ดวง กับวัตถุขนาดเล็กอื่น ๆ อีกนับล้านชิ้น ซึ่งรวมถึง ดาวเคราะห์น้อยวัตถุในแถบไคเปอร์ ดาวหาง สะเก็ดดาว และฝุ่นระหว่างดาวเคราะห์
โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งย่านต่าง ๆ ของระบบสุริยะ นับจากดวงอาทิตย์ออกมาดังนี้คือ ดาวเคราะห์ชั้นในจำนวน 4 ดวง แถบดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่รอบนอกจำนวน 4 ดวง และแถบไคเปอร์ซึ่งประกอบด้วยวัตถุที่เย็นจัดเป็นน้ำแข็ง พ้นจากแถบไคเปอร์ออกไปเป็นเขตแถบจานกระจาย ขอบเขตเฮลิโอพอส(เขตแดนตามทฤษฎีที่ซึ่งลมสุริยะสิ้นกำลังลงเนื่องจากมวลสารระหว่างดวงดาว) และพ้นไปจากนั้นคือย่านของเมฆออร์ต
กระแสพลาสมาที่ไหลออกจากดวงอาทิตย์ (หรือลมสุริยะ) จะแผ่ตัวไปทั่วระบบสุริยะ สร้างโพรงขนาดใหญ่ขึ้นในสสารระหว่างดาวเรียกกันว่า เฮลิโอสเฟียร์ซึ่งขยายออกไปจากใจกลางของแถบจานกระจาย
ดาวเคราะห์ชั้นเอกทั้ง 8 ดวงในระบบสุริยะ เรียงลำดับจากใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดออกไป มีดังนี้คือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน
นับถึงกลางปี ค.ศ. 2008 วัตถุขนาดย่อมกว่าดาวเคราะห์จำนวน 5 ดวง ได้รับการจัดระดับให้เป็นดาวเคราะห์แคระ ได้แก่ ซีรีสในแถบดาวเคราะห์น้อย กับวัตถุอีก 4 ดวงที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ในย่านพ้นดาวเนปจูน คือ ดาวพลูโต (ซึ่งเดิมเคยถูกจัดระดับไว้เป็นดาวเคราะห์) เฮาเมอา มาคีมาคี และ อีรีส
มีดาวเคราะห์ 6 ดวงและดาวเคราะห์แคระ 3 ดวงที่มีดาวบริวารโคจรอยู่รอบ ๆ เราเรียกดาวบริวารเหล่านี้ว่า "ดวงจันทร์" ตามอย่างดวงจันทร์ของโลก นอกจากนี้ดาวเคราะห์ชั้นนอกยังมีวงแหวนดาวเคราะห์อยู่รอบตัวอันประกอบด้วยเศษฝุ่นและอนุภาคขนาดเล็ก
สำหรับคำว่า ระบบดาวเคราะห์ ใช้เมื่อกล่าวถึงระบบดาวโดยทั่วไปที่มีวัตถุต่าง ๆ โคจรรอบดาวฤกษ์ คำว่า "ระบบสุริยะ" ควรใช้เฉพาะกับระบบดาวเคราะห์ที่มีโลกเป็นสมาชิก และไม่ควรเรียกว่า "ระบบสุริยจักรวาล" อย่างที่เรียกกันติดปาก เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับคำว่า "จักรวาล" ตามนัยที่ใช้ในปัจจุบัน

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ดาวเทียม


ดาวเทียม

  

       ดาวเทียม (อังกฤษ: satellite) คือ สิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น ที่สามารถโคจรรอบโลก โดยอาศัยแรงดึงดูดของโลก ส่งผลให้สามารถโคจรรอบโลกได้ในลักษณะเดียวกันกับที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ วัตถุประสงค์ของสิ่งประดิษฐ์นี้เพื่อใช้ ทางการทหาร การสื่อสาร การรายงานสภาพอากาศ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เช่นการสำรวจทางธรณีวิทยาสังเกตการณ์สภาพของอวกาศ โลก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวอื่นๆ รวมถึงการสังเกตวัตถุ และดวงดาว ดาราจักร ต่างๆ

       ดาวเทียมได้ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 ดาวเทียมดังกล่าวมีชื่อว่า "สปุตนิก (Sputnik)" โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งขึ้นไปโคจร สปุตนิกทำหน้าที่ตรวจสอบการแผ่รังสีของชั้นบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟีย ในปี พ.ศ. 2501 สหรัฐได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรบ้างมีชื่อว่า "Explorer" ทำให้รัสเซียและสหรัฐเป็น 2 ประเทศผู้นำทางด้านการสำรวจทางอวกาศ และการแข่งขั้นกันระหว่างทั้งคู่ได้เริ่มขึ้นในเวลาต่อมา


นักบินอวกาศ


นักบินอวกาศ


       นักบินอวกาศ คือ บุคคลที่เดินทางไปกับยานอวกาศ ไม่ว่าจะไปในฐานะใด และไม่ว่าจะไปด้วยยานอวกาศแบบไหน ทั้งที่โคจรรอบโลก (ในระยะสูงจากพื้นราว 80-100 กิโลเมตรขึ้นไป)หรือที่เดินทางออกไปยังตำแหน่งอื่นใดนอกวงโคจรของโลก

       คำว่า นักบินอวกาศ ในภาษาไทย นั้น ตรงกับคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ ว่าแอสโตรนอท (astronaut) ซึ่งมีความหมายอย่างที่กล่าวมา เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า นักบินอวกาศ ไม่ได้มีความหมายเฉพาะผู้ที่เป็นนักบิน (pilot) เท่านั้น แต่มีความหมายอย่างที่อาจเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ลูกเรืออวกาศ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในภาษาไทยยังมีคำศัพท์อีกคำ ที่มีความหมายเช่นนี้ นั่นคือ มนุษย์อวกาศ

       คำว่า แอสโตรนอท ในภาษาอังกฤษนั้น มีที่มาจากคำศัพท์ในภาษากรีก สองคำ คือ astro หมายถึงดวงดาว และ nautes ซึ่งหมายถึง กะลาสี

       ปัจจุบันมีนักบินอวกาศหลายชาติ จึงมีการสร้างคำสำหรับเรียกนักบินอวกาศของแต่ละชาติต่างๆ กัน เช่น นักบินในโครงการอวกาศของรัสเซีย เรียกว่า คอสโมนอท (cosmonaut) อันเป็นการสร้างคำจากคำศัพท์จากภาษากรีกเช่นกัน โดยใช้คำว่า kosmo ที่หมายถึง อวกาศ และคำว่า nautes ที่หมายถึง กะลาสี คล้าย

       ส่วนในยุโรป มีการสร้างศัพท์ขึ้นใหม่ ว่า สเปชันนอท (spationaut) เป็นคำประสม ระหว่าง space ในภาษาละติน (อวกาศ) และ nautes ในภาษากรีก (กะลาสี) โดยมีความหมายว่านักบินอวกาศ หรือมนุษย์อวกาศ นั่นเอง

       นอกจากนี้ยังมีคำว่า ไทโคนอท (Taikonaut) เป็นคำศัพท์ที่คิดขึ้นใหม่ เมื่อ เดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1998 โดยสื่อมวลชนชาวมาเลเซีย ชื่อ Chiew Lee Yih ซึ่งมาจากคำว่า ไท่คง (太空) ในภาษาจีน หมายถึง อวกาศ แต่ในภาษาจีนนั้น มีคำว่า อยู่หาง หยวน (宇航員, ต้นหนอวกาศ)ซึ่งใช้กันมานานในความหมายว่า นักบินอวอากาศและมนุษย์อวกาศ ในภาษาพูดทั่วไปจะใช้ว่า ไท่คงเหริน (太空人) มีความหมายว่ามนุษย์อวกาศนั่นเอง แต่ข้อความภาษาอังกฤษที่ทางการจีนใช้เรียกนักบินอวกาศของตน ยังคงใช้ว่า astronaut ตามปกติ

การสำรวจอวกาศ


การสำรวจอวกาศ


       การสำรวจอวกาศ คือการใช้วิทยาการด้านดาราศาสตร์และอวกาศเพื่อสำรวจและศึกษาห้วงอวกาศภายนอก การศึกษาอวกาศในทางกายภาพสามารถทำได้ทั้งโดยยานอวกาศที่ควบคุมโดยมนุษย์หรือโดยหุ่นยนต์

       การเฝ้าสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า หรือที่เรียกว่าวิชาดาราศาสตร์ ได้กระทำกันมานานดังปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ ทว่าการใช้จรวดเชื้อเพลิงเหลวขนาดใหญ่ที่เริ่มขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้การสำรวจอวกาศในทางกายภาพมีความเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศเป็นผลจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำยุครวมถึงการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อความอยู่รอดในอนาคตของมนุษย์ชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างประโยชน์ในทางทหารหรือทางกลยุทธ์ที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในบางครั้งจึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงประโยชน์ของการสำรวจอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและความปลอดภัย

       ครั้งหนึ่งการสำรวจอวกาศเป็นประเด็นการแข่งขันที่สำคัญระหว่างขั้วอำนาจ เช่นในระหว่างสงครามเย็น การสำรวจอวกาศยุคใหม่ช่วงแรกเป็นการแข่งขันกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา ได้แก่ การส่งยานที่สร้างด้วยมนุษย์ออกไปโคจรรอบโลกได้เป็นครั้งแรกในดาวเทียมสปุตนิก 1 ของสหภาพโซเวียต เมื่อ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957 และการพิชิตดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของยานอพอลโล 11 ของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 โดยมากโครงการสำรวจอวกาศของโซเวียตจะสามารถบรรลุเป้าหมายเป็นครั้งแรกได้ก่อน ภายใต้การนำของ Sergey Korolyov และ Kerim Kerimov เช่นการส่งนักบินอวกาศออกไปนอกโลกได้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1961 (ยูริ กาการิน เป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลก) การออกเดินในอวกาศครั้งแรกใน ค.ศ. 1965 (อเล็กซี เลโอนอฟ) และการส่งสถานีอวกาศแห่งแรก (สถานีอวกาศซัลยูต 1) ในปี ค.ศ. 1971 อย่างไรก็ดี วัตถุชิ้นแรกที่สร้างโดยมนุษย์และออกไปถึงระดับอวกาศเป็นครั้งแรก คือจรวด V2 ของนาซีเยอรมนีที่ใช้ในช่วงแรกๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง